กทม.จัดทำระบบ Home Isolation ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้มีผู้ป่วยที่รอเตียงหรือผู้ป่วยตกค้างในชุมชนจำนวนมาก เพื่อเป็นการสำรองเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง กทม. จึงจัดระบบบริการผู้ป่วยที่สามารถดูแลแยกกักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) โดยเน้นการดูแลรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ดูแลติดตามผู้ป่วย ซึ่งจะได้รับการประเมินอาการทุกวัน วันละ 2 ครั้ง พร้อมจัดอาหาร 3 มื้อ และมอบเครื่องวัดไข้แบบดิจิทัล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และของใช้จำเป็น ที่สำคัญคือจะได้รับยารักษา เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ ตามดุลพินิจของแพทย์ ในกรณีที่อาการแย่ลง จะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงระบบบริการผู้ป่วยที่แยกกักรักษาตัวที่บ้าน
จากการให้ข้อมูลของ พว.นารีรัตน์ เหลาสุภาพ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 13 ไมตรีวานิช สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ระบบ Home Isolation ของ กทม. ยึดรูปแบบการรักษาที่บ้านตามหลักสากล ทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาและแพทย์ได้เร็วกว่าการรอเตียง เมื่อผู้ป่วยได้เข้ามาในระบบ Home Isolation แล้ว จะมีแพทย์ พยาบาล ประเมินอาการทันที รวมถึงการพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ตามมาตรฐานการรักษาในโรงพยาบาลทุกประการ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจเมื่อต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน กทม.โดยสำนักอนามัย ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำระบบการดูแลแยกกักรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation ผ่านการแพทย์ทางไกล (AMED Telehealth for Home Isolation) ที่ชื่อว่า ‘BKKHICare’ ทำให้การสื่อสาร และดูแลผู้ป่วยผ่านการแพทย์ทางไกล มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ต้องการเข้าสู่ระบบ Home Isolation สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 ต่อ 14 เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนโรคหรือประเมินอาการเบื้องต้น ซึ่งการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation นั้น กทม. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 4 ข้อ ได้แก่
1.ผู้ป่วยจะต้องได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจ RT-PCR หรือตรวจแบบ Rapid Test โดยโรงพยาบาลรัฐหรือศูนย์บริการสาธารณสุข
2. ผู้ป่วยจะต้องได้รับการประเมินแล้วว่าอยู่ในเกณฑ์กลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส แต่ต้องไม่มีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยและคนที่พักอาศัยอยู่ด้วยกันต้องไม่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง (ระยะ 3, 4, 5) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์
3. ต้องมีอายุอยู่ในช่วง 15-60 ปี และไม่ใช่สตรีตั้งครรภ์
4. ที่พักอาศัยต้องมีความเหมาะสมสำหรับเป็นที่กักตัว และที่สำคัญ ผู้ป่วยต้องยินยอมกักตัวที่บ้านอีกด้วย