หมอจุฬาฯ แนะนำ “Home Isolation” ที่บ้าน ให้ประชาชนเตรียมรับมือ
แน่นอนว่า ตอนนี้ประเทศไทย ประสบปัญหาในเรื่องของผู้ป่วยที่ติดเชื้อสูงมากกว่า 15,000 คน รวมทั้งมีอาการที่หลายระดับ ทำให้แนวคิดเรื่องของ “Home Isolation” จึงเริ่มเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ
ซึ่งหากคุณติดโควิด-19 อาการไม่หนักและแพทย์ให้รักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation คุณควรดูแลตัวเองอย่างไร
ผศ.นพ. โอภาส พุทธเจริญ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและดูแลตัวเอง เมื่อเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่เข้าเกณฑ์รักษาตัวที่บ้าน รวมถึงผู้ป่วยที่อาการหนักแต่ยังต้องรอเตียงอยู่ที่บ้าน
อันดับแรกคือ ไม่ควรเดินทางออกนอกที่พัก แยกการใช้ชีวิตกับผู้อื่นในบ้าน ทั้งอาหารการกิน หรืออยู่ในห้องเดี่ยวที่อากาศถ่ายเทได้ดี หากทำไม่ได้ให้แยกจากคนอื่นให้มากที่สุด ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นหรือต้องใช้หลังสุดและทำความสะอาดหลังใช้เสร็จแล้ว
ถ้าอาการหนักมากขึ้น คำแนะนำโดยทั่วไป คือ ต้องไปโรงพยาบาล แต่ถ้ายังไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ การประคับประคองอาการที่ทำได้ คือ การเตรียมยาลดไข้ ยาจำเป็นบางอย่างสำหรับอาการเสียน้ำ เช่น เกลือแร่ เป็นต้น
สำหรับเกณฑ์ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่กักตัวที่บ้าน จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้
ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
อายุไม่เกิน 60 ปี
สุขภาพร่างกายแข็งแรง
อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมไม่เกิน 1 คน
ไม่มีภาวะอ้วน
ไม่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง (ระยะ 3,4,5) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
ส่วนข้อปฏิบัติตัวและสังเกตอาการตัวเอง จาก ผศ.นพ.โอภาส อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.จุฬาลงกรณ์ มีดังนี้
เตรียมปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว วัดออกซิเจนด้วยวิธีเดิน 6 นาที
การวัดออกซิเจนด้วยวิธีเดิน 6 นาที (6 minutes walk test) เป็นการตรวจการแลกเปลี่ยนของก๊าซ ที่ดีกว่าการวัดแบบที่ผู้ป่วยนั่งอยู่เฉย ๆ เพราะเป็นค่าชี้วัดลำดับต้น ๆ ของการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติ ในผู้ป่วยบางคนที่มีพยาธิสภาพของปอด ซึ่งถ้าเป็นน้อย ๆ อยู่เฉย ๆ จะไม่มีอาการ จะไม่เหนื่อย แต่ถ้าเริ่มเดินสักพัก การแลกเปลี่ยนก๊าซจะลดลง ค่านี้จะช่วยบอก ว
วิธีการทำ 6 minutes walk test ก็คือให้ใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) วัดค่าออกซิเจนในเลือดแล้วจดไว้ เครื่องจะบอกค่าการแลกเปลี่ยนของค่าออกซิเจนในเลือดกับชีพจร จากนั้นให้เดินเป็นเวลา 6 นาที หรือ 3 นาทีสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ต้องเดินเร็ว เดินไปเดินมาในห้อง แล้วกลับมาวัดซ้ำ ถ้าค่าลดลงมากกว่า 4 จากเดิมเท่าไหร่ก็ตาม ถือว่าผิดปกติ หรือถ้าวัดครั้งแรกได้น้อยกว่า 95 แสดงว่าผิดปกติตั้งแต่ต้น ให้โทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลและรายงานแพทย์ทันที
ส่วนใหญ่ดูที่อาการเหนื่อยและการมีไข้ โดยทั่วไปก่อนที่แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยมากักตัวที่บ้านได้จะต้องผ่านการเอ็กซเรย์ปอดมาแล้วเพื่อยืนยันว่าไม่มีอาการปอดอักเสบ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการปอดอักเสบในตอนแรก แต่มามีอาการทีหลัง หากเป็นเช่นนี้ต้องกลับมาประเมินใหม่ที่โรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่ปอดอักเสบมักจะต้องมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น มีไข้ มีอาการเหนื่อย และค่าออกซิเจนในเลือดต่ำผิดปกติ
ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงดี อายุไม่มาก การกักตัวที่บ้านถือว่าค่อนข้างปลอดภัย แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลงแต่ยังหาเตียงไม่ได้ จำเป็นที่ต้องรักษาตัวที่บ้านระหว่างรอเตียง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวัง แนะนำให้ดูอาการอย่างใกล้ชิดและวัดออกซิเจนวันละ 1-2 ครั้ง หากมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น เหนื่อย ให้เตรียมออกซิเจนไว้น่าจะสำคัญที่สุด และการนอนคว่ำ (ศัพท์ทางการแพทย์เรียกการทำ prone) จะทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น
ผู้ป่วยสีเขียวกักตัวที่บ้าน หากครบ 14 วัน ไม่ต้องสวอบหาเชื้ออีกครั้ง
ผู้ป่วยกักตัวที่บ้านและรักษาจนหายป่วยแล้ว แนะนำให้กักตัวต่ออย่างน้อย 14 วัน เพราะว่าช่วง 14 วันนี้เป็นช่วงที่ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ขอให้กักตัวอยู่ในห้อง กินข้าวในห้องแยกจากคนอื่น แยกห้องน้ำ เมื่อครบ 14 วันแล้วสามารถใช้ชีวิตแบบ “นิวนอร์มอล” ได้ตามปกติ เพราะถือว่าพ้นระยะแพร่กระจายเชื้อแล้ว
คำถามที่ว่าเมื่อกักตัวครบ 14 วันหลังจากหายป่วยแล้ว จะต้องไปสวอบหาเชื้อซ้ำหรือไม่ ผศ.นพ.โอภาสกล่าวว่าไม่จำเป็น เพราะว่าหลังหายป่วยเชื้อจะน้อยลง แต่ไม่ได้หายไปหมด ดังนั้นการตรวจโดยวิธีการตรวจสวอบหรือว่าแยงโพรงจมูกจะยังเจอเชื้ออยู่ แต่ว่าเชื้อที่เจอเป็นซากเชื้อ คนจะเข้าใจผิดว่า พอออกมาแล้วหาย กลับมาทำงานจะต้องสวอบก่อนเข้าทำงาน จริง ๆ ไม่จำเป็น เพราะว่าอาจจะยังตรวจเจออยู่ แต่ว่าสิ่งที่ตรวจเจอ มันเป็นซากเชื้อทำให้เราเข้าใจผิดว่าเรายังไม่หายเสียที
แต่หากหายป่วยแล้ว กักตัวครบ 14 วันแล้วมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น คัดจมูก มีไข้ ก็แนะนำให้ไปทำสวอบซ้ำได้ และสำหรับผู้ที่หายป่วยแล้วเป็นเวลา 3 เดือน สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ 1 เข็ม