อีกความหวังของคนไทย “ChulaCov19” วัคซีนสายพันธุ์ไทย โดยแพทย์จุฬาฯ เริ่มการทดลองแล้ว
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มทำการทดสอบวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย “ChulaCov19” (จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน) เฟสแรกในมนุษย์ โดยทดลองฉีดให้อาสาสมัครจำนวน 4 ราย เบื้องต้นทั้งหมดไม่พบผลข้างเคียง วัคซีน “ChulaCov19” ถูกคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย ด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจาก นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้คือ Professor Drew Weissman, มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับวัคซีน Pfizer และ Moderna ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทั่วโลกที่มีการรับรองในการฉีดกว่า 600 ล้านโดส ทั่วโลก
mRNAจะสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนดังกล่าว จะทำการสร้างโปรตีนและกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อ โควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือเกิดอาการหรือเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้
การพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยนี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน สำคัญผลการทดลองในหนูทดลอง พบว่าการฉีดแม้เป็นเพียงโดสต่ำๆ แต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ “สูงมากจนน่าตื่นเต้น” และเมื่อนำไปทดสอบในลิงก็พบว่าสามารถสร้างภูมิได้สูงมากเช่นกัน นอกจากนั้นยังได้ทำการทดลองในหนูพันธุ์พิเศษ โดยใส่เชื้อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจของหนูที่ได้รับการฉีดวัคซีน พบว่าสามารถป้องกันไม่ให้หนูป่วยและเชื้อเข้ากระแสเลือดได้ 100% นอกจากนั้นยังพบว่าเชื้อที่ใส่เข้าไปในจมูกและปอดลดลงกว่า 10 ล้านเท่า
สำหรับการเก็บรักษาพบว่าวัคซีน “ChulaCov19” สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น
หลังการประกาศขอสมัครอาสามัครทดลองวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับใบสมัครจากคนไทยกว่า 10,000 ราย
ศ.นพ.เกียรติ อธิบายกระบวนการทดสอบวัคซีนเพิ่มเติมว่า หากผ่านการทดสอบระยะแรกปลายเดือน ก.ค. ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการทดสอบในอาสาสมัครอีก 150 คนได้ในช่วงเดือน ส.ค. พร้อมทั้งเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ วัคซ๊นในกระบวนการใกล้เคียงกันจากผลเลือดของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไดรับวัคซีนจากเทคโนโลยี mRNA อย่าง ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา
ส่วนการทดสอบในระยะที่ 3 นั้น อาจไม่จำเป็นต้องทดสอบในอาสาสมัคร 20,000 รายในประเทศที่กำลังเกิดการระบาด ตามเกณฑ์ของการทดลองวัคซีนชนิดใหม่ เนื่องจากเมื่อมีวัคซีนอื่นที่ผลิตชนิดเดียวกันแล้ว มีแนวโน้มว่าภายในสิ้นปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) จะกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า “วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไหร่” ก็จะช่วยลดขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 3 ได้
หากได้รับการยกเว้นการทดสอบระยะที่ 3 และผ่านเกณฑ์ที่กำหนด วัคซีน “ChulaCov19” อาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อให้ในคนจำนวนมากได้ประมาณเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. 2565
ในล็อตแรกที่ทำการทดสอบนี้ผลิตจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากนี้จะผลิตในประเทศไทยโดยบริษัท BioNet-Asia ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแล้ว ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านโดสต่อปีหลังผ่านการทดลองและได้รับการอนุมัติ
ท่ามกลางความกังวลเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนที่มีในประเทศไทย และทิศทางเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคต
ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อรองรับเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์ และจะเร่งทดลองกับสัตว์ควบคู่กันไป และคาดว่าจะทดสอบในอาสาสมัครภายในไตรมาสสี่ของปีนี้
“ความคาดหวังแน่นอนเราก็อยากเห็นว่าถ้าประสบความสำเร็จ คือรู้ขนาดที่เหมาะสม โรงงานไทยผลิตได้จริง ฝีมือดีเท่ากับที่เรานำเข้า ประสิทธิผลประสิทธิภาพได้ เราก็อยากให้วัคซีนนี้สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของคนไทยได้ในปีหน้า” ศ.นพ.เกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : ข้อมูลโดย: พริสม์ จิตเป็นธม workpointTODAY และ ทีมประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์