กางมติ ศบค.ชุดใหญ่ ไฟเขียวเปิดบริการ 9 ประเภทกิจการ/กิจกรรม เช็กเลยมีอะไรบ้าง!
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึง 30 พฤศจิกายน นี้ ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวด/สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่ม 1 ต.ค. นี้
ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ดังนี้
1.) เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 ประกอบด้วย
1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เปิดดำเนินการได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
2. ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชนและบ้านหนังสือ
3. พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน แหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณสถาน
4. ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมหรือหอศิลป์
ตั้งแต่ข้อ 2-4 เปิดได้แบบ จำกัดจำนวน เช่น 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร หรือให้เข้าชมได้ไม่เกิน 75% ตามกำหนด โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหาร และเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุข
5. ร้านทำเล็บ เปิดดำเนินการได้ โดยนัดหมายล่วงหน้า
6. ร้านสัก เปิดดำเนินการได้ โดยนัดหมายล่วงหน้า ลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบ ภายใน 72 ชั่วโมง
7. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (นวด สปา) เปิดดำเนินการได้ โดยนัดหมายล่วงหน้า จำกัดเวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน แต่ยังไม่เปิดบริการอบไอน้ำ สามารถเปิดบริการที่ใช้น้ำเพื่อสุขภาพในกิจการสปาภายใต้พระราชบัญญัติประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 และลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบ ภายใน 72 ชั่วโมง
8. ธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือฉายภาพยนตร์ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. ลดจำนวนเหลือประมาณ 50% และการนั่งที่เว้นที่ แต่ถ้ามาด้วยกันให้นั่งด้วยกันได้ สวมหน้ากากตลอดเวลา และไม่รับประทานอาหาร
9. การเล่นดนตรีในร้านอาหาร เปิดดำเนินการได้ จำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 5 คน นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา นักร้องถอดหน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาร้องเพลงหรือแสดง ห้ามสัมผัสคลุกคลีกันระหว่างนักร้อง นักดนตรีและลูกค้า
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศ รวมทั้งการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการ Covid Free Setting
10. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ยังไม่เปิดดำเนินการ ให้มีการติดตามสถานการณ์ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้มีการเดินทางเข้าร่วมอบรมสัมมนาจากหลายพื้นที่ และมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
– ลดเวลาห้ามออกจากเคหสถาน เป็น 22.00-04.00 น. อย่างน้อย 15 วัน
– ขยายเวลาสำหรับกิจการ/กิจกรรม เปิดบริการได้ถึง 21.00 น. ได้แก่
- ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า (ให้เปิดสถาบันกวดวิชาได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้เปิดโรงภาพยนตร์ สปา ห้องออกกำลังกาย ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ได้ตามแนวทางที่กำหนด แต่ยังไม่เปิดดำเนินการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำ และห้องประชุม/จัดเลี้ยง)
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด (เฉพาะจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค)
- กีฬากลางแจ้งหรือในร่มที่เป็นที่โล่ง กีฬากลางแจ้งมีผู้ชมได้ไมเกิน 25% ของความจุสนาม ผู้ชมได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบ ภายใน 72 ชั่วโมง
2) การปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร
- โดยปรับลดระยะเวลาในการกักกันสำหรับผู้มีเอกสารวัคซีนโควิด-19 ครบ เหลือ 7 วัน ในส่วนผู้ที่ยังไม่มีเอกสารวัคซีน ให้กักตัว ตั้งแต่ 10 -14 วัน สำหรับการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศกักตัว 7 วัน ทางน้ำและทางบก กักตัว 10 -14 วัน อนุญาตให้ทำกิจกรรมในสถานที่กักกันฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
- เปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เขาหลัก เกาะยาว จ.พังงา และ เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก จ.กระบี่ และแนวทางเปิดพื้นที่เพิ่มเติม 10 จังหวัด เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2564 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง เกาะพยาม จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง)
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน คณะที่ปรึกษา ที่ร่วมกันทำทำงานหนักมาตลอดระยะ 2 ปี ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญและเห็นถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย และการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทั้งภายในปี 2564 และต่อเนื่องสำหรับการจัดหาวัคซีนในปี 2565 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของเราทุกคน เพื่อร่วมกันเดินหน้า พลิกโฉมประเทศไทย